ประวัติการควบคุมวัตถุอันตราย


จากการที่ในช่วงระยะเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการใช้ดีดีทีในการปราบปรามโรคมาลาเรียเป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังมีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการเกษตร และสารเคมีต่าง ๆ ในทางอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ พ.ศ.2510 ขึ้น โดยแบ่งวัตถุมีพิษเป็น 2 ประเภท คือ วัตถุมีพิษร้ายแรง และวัตถุมีพิษธรรมดา โดยมีหน่วยงานผู้รับผิดชอบ 3 หน่วยงาน คือ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม ต่อมาในปี พ.ศ. 2516 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2516 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องของการขึ้นทะเบียนวัตถุมีพิษ การกำหนดการควบคุมการผลิตเพื่อการค้า การนำ หรือสั่งวัตถุมีพิษเข้ามาในราชอาณาจักรให้มีความรัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งเพื่อควบคุมการพ่นหรือการปล่อยวัตถุมีพิษโดยอากาศยาน

          ในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 แทนพระราชบัญญัติวัตถุมีพิษพ.ศ.2510 โดยได้แบ่งวัตถุอันตรายออกเป็น 4 ชนิด ตามความจำเป็นในการควบคุม คือ วัตถุอันตรายชนิดที่ 1 วัตถุอันตรายชนิดที่ 2 วัตถุอันตรายชนิดที่ 3 และ วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 โดยวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 เป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า นำผ่าน ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง โดยได้ขยายขอบเขตการควบคุมของวัตถุอันตรายให้มีความครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ยังได้กำหนดให้หน่วยงานในราชการบริหารส่วนกลางสามารถขอเป็นผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายได้ จึงทำให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดหน่วยงานผู้รับผิดชอบ โดยภายหลังจากที่ได้มีการประกาศบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายในปี พ.ศ.2538 การดำเนินงานด้านการพิจารณาอนุญาตวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จึงได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม 

          ต่อมาในปี พ.ศ.2544 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2544 ซึ่งได้เพิ่มสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการในการควบคุมการกระทำใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัตถุอันตรายที่เป็นสารเคมีพิษหรือสารที่ใช้ผลิตสารเคมีพิษที่ระบุในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีและบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับพันธกรณีตามอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี และต่อมาในปี พ.ศ.2551 ได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ณ ขณะนั้น โดยได้ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ อำนาจของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน การกำหนดให้ผู้เชี่ยวชาญหรือบุคลากรเฉพาะ (ซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการเกี่ยวกับวัตถุอันตราย) ให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและ เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด การกำหนดอายุและการต่ออายุใบรับแจ้งการดำเนินการวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 และใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือชนิดที่ 3 การอนุญาตให้มีการผลิต นำเข้า หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (เฉพาะในกรณีที่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากหน่วยงานผู้รับผิดชอบเพื่อใช้เป็นสารมาตรฐานในการ วิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น) รวมทั้งการยกเลิกอำนาจจับกุมของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตลอดจนปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ พ.ศ.2535 ครั้งที่สามเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 โดยสาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ การเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การนำผ่าน การนำกลับเข้ามา และการส่งกลับออกไป และกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การโฆษณาวัตถุอันตราย รวมทั้งกำหนดให้ผู้รับประกันภัยจ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นเพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับความเสียหายจากวัตถุอันตรายและผู้เข้าช่วยเหลือ เคลื่อนย้าย บำบัด บรรเทาหรือเพื่อขจัดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากวัตถุอันตราย การยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนในกรณีการนำ วัตถุอันตรายมาใช้เพื่อประโยชน์ในการศึกษา การทดสอบ การวิเคราะห์ การวิจัย และการพัฒนา รวมทั้งแก้ไข เพิ่มเติมบทกำหนดโทษและบทบัญญัติเกี่ยวกับการเปรียบเทียบให้เหมาะสมด้วย


ทั้งนี้ ในส่วนของการทบทวนบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายนั้น ได้มีการดำเนินการมาเป็นระยะ เพื่อให้ครอบคลุมวัตถุหรือสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดอันตราย และมีการปรับเปลี่ยนระดับการควบคุมวัตถุอันตรายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ โดยพิจารณาจากข้อมูลความเสี่ยง ความเป็นอันตราย และข้อมูลการควบคุมในต่างประเทศหรืออนุสัญญาต่าง ๆ โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอข้อมูลหรือผลการทบทวนบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายดังกล่าวต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาให้ความเห็น หากคณะกรรมการฯ จะเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งหากเห็นชอบต่อผลการทบทวนหรือการปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตราย จะลงนามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมว่าด้วยบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายเพื่อนำมาใช้บังคับใช้ต่อไป