หนังสือรับรองการจำหน่าย ( Certificate of free sales : CFS )
11 กรกฎาคม 2566

หนังสือรับรองการจำหน่าย ( Certificate of free sales : CFS )
ข้อกำหนดในการพิจารณาเกี่ยวกับหนังสือรับรองการจำหน่าย ตามคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ 398/2544 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองการจำหน่าย (Certificate of Free Sale:CFS) เพื่อประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ และคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ 122/2548 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองการจำหน่าย (Certificate of Free Sale : CFS) เพื่อประกอบการนำเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ฉบับที่ 2 ) มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณา certificate of free sale ดังนี้
1. ประเทศผู้ออก CFS
CFS ต้องออกโดยประเทศผู้ผลิต แต่อนุญาตให้ใช้ CFS ที่ออกโดยประเทศที่มีการจำหน่ายกรณีต่อไปนี้
1.1 ประเทศผู้จำหน่ายเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ซึ่งว่าจ้างให้ประเทศผู้ผลิตเป็นผู้ผลิตแทน
1.2 ประเทศผู้ผลิตไม่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากไม่มีกรณีที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
1.3 กรณีอื่นๆ ตามที่ อย. เห็นสมควร
ทั้งนี้ต้องมีหนังสือรับรองแหล่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตและหนังสือชี้แจงจากผู้ผลิตฉบับจริงถึงสาเหตุที่ี่ไม่สามารถออก CFS จากประเทศผู้ผลิตได้

2. หน่วยงานที่ออกหรือหน่วยงานที่รับรองข้อความใน CFS และเอกสารหนังสือรับรองแหล่งผลิตจากประเทศผู้ผลิต
CFS และเอกสารหนังสือรับรองแหล่งผลิตจากประเทศผู้ผลิตต้องออก/รับรองข้อความโดยหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ หรือหน่วยงานเอกชนที่รัฐรับรอง

3. การรับรอง CFS
3.1 CFS ต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงต่างประเทศของประเทศไทยหรือสำนักพาณิชย์ไทย
3.2 CFS ที่ส่งมาจากหน่วยงานรัฐบาลที่กำกับดูแลของประเทศผู้ผลิตมาถึง อย. โดยตรง เช่น ICAMA ของประเทศจีน CFS ในกรณีนี้ไม่ต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงต่างประเทศของประเทศไทยหรือสำนักพาณิชย์ไทย

4. รายละเอียดใน CFS
รายละเอียดที่กำหนดให้ต้องมีใน CFS มีดังนี้
4.1 ชื่อผลิตภัณฑ์ : กรณีชื่อการค้าไม่สอดคล้องกับชื่อการค้าที่ขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ให้ผู้ผลิตมีหนังสือรับรองว่าเป็นผลิตภัณฑ์เดียวกัน
4.2 ชื่อและที่อยู่ผู้ผลิต
4.3 ข้อความที่มีความหมายรับรองว่าสามารถจำหน่ายได้ในประเทศผู้ออกหนังสือ : กรณี CFS ไม่มีข้อความที่มีความหมายรับรองว่าสามารถจำหน่ายได้ในประเทศผู้ออกหนังสือ ให้ส่งเอกสารหรือ หลักฐานอื่นที่สามารถอ้างอิงได้ว่ามีการจำหน่ายในประเทศผู้ออก CFS เช่น หลักฐานการขึ้นทะเบียน โดยเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่นเพิ่มเติมต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงต่างประเทศของ ประเทศไทยหรือสำนักพาณิชย์ไทย
4.4 ชื่อและปริมาณสารสำคัญของวัตถุอันตราย

5. อายุของ CFS
5.1 CFS มีอายุการใช้งานภายในระยะเวลาที่กำหนดใน CFS นั้น
5.2 กรณีไม่ได้ระบุอายุการใช้งาน CFS สามารถใช้ได้ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ออก CFS

กฏหมายที่เกี่ยวข้อง
1.คำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ 398/2544 และคำสั่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่ 122/2548
2.ประกาศสำนักควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย เรื่อง Certificate of free sales : CFS